388 จำนวนผู้เข้าชม |
การเล่นสนุกกับเด็กเป็นของคู่กัน เวลาที่เด็กได้เล่น นอกจากจะทำให้เด็กมีความสุข การเล่นยังเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กในหลายด้าน การเล่นกับเด็ก ที่ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าหากพ่อแม่ไม่รู้เทคนิค ลูกของเราอาจจะได้ประโยชน์จากการเล่นที่ไม่เต็มที่ก็ได้ครับ ซึ่งถือเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาสมองลูกของเราอย่างน่าเสียดาย
วันนี้หมอเลยนำเทคนิคเล่นกับลูกให้ได้ทั้งความสุขและความฉลาดมาฝากกัน มีเทคนิคอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยครับ
มีความสุข “ร่วมกัน” และให้ความสนใจเวลาลูกเล่น
คงเป็นไปไม่ได้ ที่พ่อแม่จะเล่นกับลูก “ตลอดเวลา” แต่ช่วงที่พ่อแม่เล่นกับลูกต้องเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และพ่อแม่ควรแสดงความสนใจการเล่นของลูก
อย่าสนใจลูกเฉพาะตอนที่ลูกทะเลาะกันแย่งของกันนะครับ
ให้ลูกเป็นคน “นำการเล่น”
แม้ว่าลูกอาจจะเล่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง พ่อแม่ก็ไม่ควรขัด อย่าเผลอตัวคอย “สอน” ลูกตลอดเวลา เพราะลูกอาจจะเบื่อได้นะครับ
เพราะฉะนั้น เวลาเล่นกับลูก ท่องไว้เสมอให้ “เล่นตามลูก” อย่า Guide ลูกมากจนเกินไปนะครับ
พากย์การเล่นของลูก แสดงอารมณ์ร่วม
พากย์การเล่นของลูก จะทำให้ลูก “รับรู้” ได้ว่าพ่อแม่สนใจ เช่น “รถไฟกำลังแล่นไปแล้ว ฉึก ฉัก ฉึก ฉัก” เวลาพากย์ นีกง่ายๆ เหมือนเวลาเราพากย์กีฬา คือ บรรยายสิ่งที่เห็นและใส่อารมณ์ร่วมพ่อแม่หลายคนชอบถามเวลาเห็นลูกเล่น การถามมีบ้างได้ แต่อย่าถามเยอะจนเด็กเบื่อ หรือทำให้เด็กพะวงกับการตอบมากจนเกินไป
หลีกเลี่ยงการแข่งขัน หรือพูดเปรียบเทียบ
โดยเฉพาะการเล่นกีฬาที่มีการแพ้-ชนะ ควรเน้นการที่พ่อแม่ลูกได้สนุกด้วยกัน มากกว่าครับ
ชื่นชมในความพยายามของลูก และกระตุ้นให้ลูกแก้ปัญหาเอง
ระหว่างที่ลูกเล่น พ่อแม่ควรมองหาข้อดีของลูกมาชื่นชม เช่น ความพยายามเล่นของลูก การที่เล่นแล้วเก็บของเข้าที่ เป็นต้น
นอกจากนั้น ถ้าเป็นการเล่นแนวตรรกะ ที่มีถูก-ผิด ที่ชัดเจน เช่น การต่อจิ๊กซอว์ หรือการหยอดบล็อค ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่อย่าเพิ่งรีบช่วยลูกเร็วเกินไป พยายามให้เวลาลูกได้คิด แก้ปัญหาเองก่อน แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่อาจจะช่วยเล็กน้อย หรือช่วยเสนอแนะ และให้ลูกคิดต่อ ทำแบบนี้จะทำให้ลูกได้ฝึกคิด และเมื่อลูกทำได้ ก็จะรู้สึกภูมิใจตนเองมากขึ้นเรื่อยๆครับ
การเล่นเป็น “งานของเด็ก” เมื่อลูกได้เล่น สมองของลูกจะได้พัฒนา พ่อแม่จึงควรหาเวลาให้ลูกได้เล่นนะครับ